ดาร์วิด คอร์เปอเรท
Minimalist Design
Updated: Dec 23, 2021
ที่มาของคำว่า Minimalist Design การออกแบบที่เรียบง่าย พร้อมเทคนิคที่ใช้ได้จริง
การออกแบบแนวมินิมอล จัดเป็นอีกหนึ่งกระแสที่สำคัญมากในวงการออกแบบแห่งยุคศตวรรษที่ 20 เลยก็ว่าได้ มันไม่ใช่กระแสที่โด่งดังในชั่วข้ามคืน หรือว่าเป็นกระแสที่ได้รับความนิยมสูงสุดตลอดกาล แต่ก็โต้แย้งได้ยากนะว่า กระแสนี้เข้าถึงเกือบทุกวงการที่เกี่ยวข้องกับงานศิลปะหรือการออกแบบได้อย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบ User Interface ไปจนถึงการออกแบบฮาร์ดแวร์ แม้แต่ในวงการภาพยนตร์และเกมส์เอง ลามไปจนถึงวงการรถยนต์ หรือจะเป็นการออกแบบด้วยภาพบนสื่อต่างๆในโลกอินเตอร์เน็ต ทุกสาขาอาชีพได้รับอิทธิพลจาก minimalism หรือลัทธิความเรียบง่ายนี้กันแทบทั้งสิ้น
นับตั้งแต่โทรศัพท์ที่หน้าตาทันสมัย interface ของเว็บและแอพที่ดูสะอาดตา โบรชัวร์ที่ดูเรียบง่าย
หรือการนำเสนอข้อมูลแบบภาพกราฟิคอื่นๆที่อ่านได้ง่ายสบายตา
หรือแม้กระทั่งช่วงเวลาแห่งการพักผ่อนบนโซฟาที่เรียบหรูดูแพง และอื่นๆอีกมากมาย
เหตุผลที่ว่าทำไม minimalism หรือลัทธิความเรียบง่ายนี้ แทรกซึมเข้าไปในหลายสาขา แต่ไม่ค่อยมีคนพูดถึงมากเหมือนศิลปะแนวป๊อบอาร์ท นั่นก็เป็นเพราะว่า minimalism เป็นหลักการมากกว่าเป็นภาพที่มองเห็นได้นั่นเอง เนื่องจากมันเป็นเพียงหลักการและทิศทางในการออกแบบ จึงทำให้นักออกแบบนอกวงการสถาปัตยกรรมและวงการออกแบบอื่นๆ สามารถนำไปประยุกต์ใช้และปรับปรุงการออกแบบของตนเองได้ ซึ่งนั่นหมายรวมถึงนักออกแบบเว็บหรือนักออกแบบสื่อที่ใช้ภาพด้วยเช่นกัน
ด้วยความที่ minimalism คือความเรียบง่ายที่ยอดเยี่ยมและมีความสำคัญมาก มันไม่ฉูดฉาดดาษดื่น แต่มันส่งอิทธิพลที่แพร่หลายมากกว่าในวงกว้าง การออกแบบที่เรียบง่ายแนว minimalist design คืออะไรกันล่ะ มาดูคำตอบพร้อมกับลงลึกไปยังบุคคลสำคัญต่อรากเหง้าของการออกแบบแนวนี้ บทความนี้ จะนำเสนอประวัติโดยย่อของการออกแบบที่เรียบง่าย และแนะนำเคล็ดลับที่อาจจะเป็นประโยชน์ต่อการออกแบบภาพในสื่อออนไลน์ จากนั้นจะยกตัวอย่างการออกแบบไปด้วย พร้อมแล้วไปดูกันเลย
1. การออกแบบที่เรียบง่าย หรือ minimalist design มีอะไรบ้าง
Minimalism เป็นเทรนด์การออกแบบที่เริ่มต้นในศตวรรษที่ 20 และยังคงดำเนินต่อไปในปัจจุบัน โดยจะมองเห็นเด่นชัดที่สุดผ่านองค์กรที่ทรงอิทธิพลต่างๆ เช่น Apple และผ่านผลงานการออกแบบของเหล่านักออกแบบกราฟิกชื่อดัง การออกแบบที่เรียบง่าย เป็นการออกแบบที่แยกเฉพาะองค์ประกอบที่จำเป็นเท่านั้น
สถาปนิก Ludwig Mies van der Rohe ได้ให้คำจำกัดความอย่างไม่เป็นทางการสำหรับการออกแบบที่เรียบง่ายว่า:
Less is more.
น้อยแต่มาก
นักออกแบบ Buckminster Fuller ได้ให้อีกคำจำกัดความว่า:
Doing more with less.
ทำมากขึ้นให้น้อยลง
ไม่มีอะไรเพิ่มเติมสำหรับคำกล่าวนี้แล้ว นอกจากการตอกย้ำที่ว่า การออกแบบแนวมินิมอล เป็นหลักการมากกว่าการออกแบบภาพ ไม่สำคัญว่าจะเป็นการออกแบบเว็บไซต์ ใบปลิว user interface ฮาร์ดแวร์สักชิ้น บ้าน หรืออะไรก็ตามแต่ แค่เพียงลบสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไป ด้วยหลักการง่ายๆแค่ว่า “การออกแบบนี้ยังคงใช้การได้อยู่ 100% หากขาดสิ่งนี้ไป” และเก็บเฉพาะองค์ประกอบสำคัญที่จำเป็นเท่านั้น
2. รากเหง้าของการออกแบบที่เรียบง่าย
เช่นเดียวกับสิ่งอื่นในชีวิต การออกแบบที่เรียบง่าย ได้รับอิทธิพลมาจากบางสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น สิ่งที่มีอิทธิพลต่อการออกแบบที่เรียบง่ายหรือ minimalist design คือ:
การออกแบบสไตล์ญี่ปุ่นดั้งเดิม
I. De Stijl เดอสไตล์

ภาพโดย Tom Rolfe
เดอสไตล์เป็นการเคลื่อนไหวทางศิลปะในเนเธอร์แลนด์ เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2460 (ค.ศ. 1917) ไปจนถึงต้นทศวรรษที่ 1930 “De Stijl” เป็นภาษาดัตช์ของคำว่า “The Style” การเคลื่อนไหวประกอบไปด้วยจิตรกร ประติมากร สถาปนิก และนักออกแบบ
เดอสไตล์ผลักดันให้เกิดความเรียบง่ายและเป็นนามธรรม โดยลดการออกแบบให้เหลือเฉพาะรูปแบบและสีที่จำเป็นเท่านั้น โดยยึดอยู่กับหลักการ 4 อย่างนี้:
เส้นแนวนอนและเส้นแนวตั้ง
รูปทรงสี่เหลี่ยม
ค่าสีหลักของ ขาว ดำ เทา
แม่สีอย่าง น้ำเงิน แดง เหลือง
นอกจากนี้แล้ว องค์ประกอบหรือชั้นต่างๆจำนวนมากจะไม่ตัดทับกัน แต่จะเน้นปล่อยให้แต่ละองค์ประกอบเป็นอิสระต่อกัน และไม่ถูกปกคลุมหรือแทรกแซงโดยองค์ประกอบอื่นๆ
เห็นอย่างนี้แล้ว คงไม่ต้องจินตนาการต่อให้ยืดยาวว่า เดอสไตล์ มีอิทธิพลต่อการออกแบบสไตล์มินิมอลอย่างไร
II. Van Der Rohe (แวนเดอร์โรห์)

ภาพโดย seier+seier
Ludwig Mies van der Rohe เป็นสถาปนิกชาวเยอรมัน ที่จัดว่าเป็นผู้บุกเบิกสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ และรูปแบบสถาปัตยกรรมของเขาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นรากฐานของการออกแบบที่เรียบง่ายนี้อีกด้วย เขาเคยออกแบบสถานที่จุดสังเกตสำคัญหลายแห่งรวมถึง Crown Hall แห่งกรุงชิคาโก และอาคาร Seagram ในกรุงนิวยอร์ก
แวนเดอร์โรห์มุ่งมั่นที่จะรังสรรค์ผลงานการออกแบบสถาปัตย์ของเข้าให้เรียบง่ายและชัดเจนที่สุด โดยยึดหลักการที่ว่า:
ใช้วัสดุสมัยใหม่ เช่น เหล็กและแผ่นแก้ว
มีกรอบโครงสร้างให้น้อยที่สุด
สร้างพื้นที่เปิดโล่งให้มากที่สุด
เขาเป็นคนหนึ่งที่นิยมคำว่า “less is more” ซึ่งตามที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ นับเป็นหนึ่งในคำกล่าวอย่างไม่เป็นทางการสำหรับการออกแบบที่เรียบง่ายนั่นเอง
เช่นเดียวกับเดอสไตล์ การเชื่อมต่อระหว่างแวนเดอร์โรห์กับการออกแบบที่เรียบง่ายนั้น มองเห็นได้อย่างชัดเจน
III. การออกแบบสไตล์ญี่ปุ่นดั้งเดิม

ภาพโดย Tanaka Juuyoh
การเพิ่มเฉพาะสิ่งที่จำเป็น และลบส่วนที่เหลือ ถือว่าเป็นหลักการสำคัญในการออกแบบสไตล์ญี่ปุ่นดั้งเดิมมาโดยตลอด หากว่าสังเกตสถาปัตยกรรมญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมรวมถึงการออกแบบภายใน จะเห็นได้ว่า มีโทนสีน้อยมาก และมีตัวเลือกการออกแบบที่เรียบง่าย รวมถึงลายเส้นและรูปทรงที่ดูสะอาดสบายตา
มีความเชื่อมโยงกันระหว่างการออกแบบของญี่ปุ่นและขนบธรรมเนียมของญี่ปุ่น วัฒนธรรมของชาวญี่ปุ่นจะอบอวลไปด้วยความเรียบง่ายแบบลัทธิเซ็น เหมารวมหมดทุกอย่าง เริ่มตั้งแต่วิธีการเตรียมอาหาร ไปจนถึงวิธีการนำเสนอ และรวมถึงวิธีทานอาหารอย่างพิธีชงชา อีกทั้งการจัดสวนหินแนวเซ็น ที่ล้วนให้ความสำคัญกับความเรียบง่ายและมุ่งเน้นไปยังกิจกรรมที่ทำอยู่เป็นสำคัญ สิ่งอื่นใดที่ไม่จำเป็นต่อการทำกิจกรรมนั้นจะถูกตัดออก แม้แต่เสื้อผ้าญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมอย่างกิโมโน ก็ยังแสดงถึงความเรียบง่าย ไม่ตกแต่งประดับประดาที่เยอะจนดูหรูหราเกินหน้าเกินตา ทุกองค์ประกอบของเสื้อผ้าได้รับการออกแบบโดยคำนึงถึงหลักการที่ใช้งานได้และส่งผลโดยตรงต่อจิตวิญญาณผู้สวมใส่ ทุกการเคลื่อนไหวจะเป็นอิสระ สามารถระบายความร้อนได้เองตามธรรมชาติ มีความสวมใส่สบายทนทาน และสะดวกต่อการสวมใส่หรือถอดออก
โดยธรรมชาติแล้ว นักออกแบบสไตล์มินิมอลจะได้รับอิทธิพลจากการออกแบบแนวญี่ปุ่นดั้งเดิม ซึ่งมักพบเห็นได้มากกว่าการออกแบบแนวตะวันตกแบบดั้งเดิมอย่างโกธิคหรือวิกตอเรียน
3. ประวัติโดยย่อของการออกแบบที่เรียบง่าย
มินิมอลลิสต์เริ่มต้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ด้วยสถาปัตยกรรมประมาณปี ค.ศ. 1920 จากสถาปนิกแวนเดอร์โรห์ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นหนึ่งในสถาปนิกที่มีชื่อเสียงคนแรกๆ ที่ใช้หลักการนี้ในการออกแบบผลงานของเขา นับเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการออกแบบที่เรียบง่าย สาเหตุที่สถาปัตยกรรมแนวมินิมอลเริ่มต้นขึ้น เกิดจากการที่มีวัสดุแบบใหม่ถือกำนัดขึ้น อย่างเช่น แก้วคอนกรีต และเหล็ก นอกจากนี้ ยังมีวิถีการขึ้นรูปแบบอาคารที่เป็นมาตรฐาน ซึ่งช่วยให้การออกแบบและการก่อสร้างอาคารแบบมินิมอลเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แนวโน้มดังกล่าวยังคงดำเนินต่อไปจนถึงกลางศตวรรษที่ 20 โดยนักออกแบบและสถาปนิกชื่อดังนามว่า Buckminster Fuller ผู้ออกแบบโดมโดยใช้รูปทรงเรขาคณิตที่เรียบง่าย ซึ่งยังคงตั้งตระหง่านแลดูทันสมัย เข้ากับทุกยุคมาจวบจนทุกวันนี้
การออกแบบที่มุ่งเน้นความเรียบง่าย ได้กระจายไปสู่วงการภาพวาด วงการออกแบบภายใน วงการแฟชั่นและดนตรี ซึ่งนั่นเป็นวิธีการก่อตัวของการออกแบบแนวมินิมอลที่ได้กลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการวาดภาพแบบมินิมอล ดนตรีแบบมินิมอล โรงเรียนการแต่งเพลงแบบมินิมอลลิสม์ และอื่นอีกมากมาย
จิตรกร แฟรงก์ สเตลล่า ได้เคยกล่าวไว้ว่า “สิ่งที่คุณเห็นคือสิ่งที่คุณเห็น” (“What you see is what you see” - Frank Stella) ศิลปะแนวมินิมอลได้เติบโตขึ้นในอเมริกาช่วงปีทศวรรษที่ 1960 เช่นเดียวกันกับยุคเดอสไตล์ มีจิตรกรบางกลุ่มต่อต้านศิลปะการแสดงออกเชิงนามธรรม และศิลปะที่ใช้เฉพาะรูปทรงเรขาคณิตพื้นฐานในผลงาน โดยไม่มีการตกแต่งองค์ประกอบเพิ่มเติม
โดยธรรมชาติแล้ว การออกแบบที่มุ่งเน้นความเรียบง่ายยังแพร่กระจายไปสู่วงการผลิตภัณฑ์สำหรับผู้บริโภคอีกด้วย โดยนักออกแบบ Dieter Rams ที่ใช้การออกแบบที่เรียบง่ายในผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ Braun อีกตัวอย่างหนึ่งของสินค้าอุปโภคบริโภคที่ออกแบบอย่างเรียบง่ายอย่าง Ikea บริษัทเฟอร์นิเจอร์สัญชาติสวีเดน ก็ได้ออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่แสนจะเรียบง่ายมาก เพื่อเน้นให้ผู้คนทุกคนสามารถใช้ได้ในชีวิตประจำวัน อีกทั้งยังสามารถประกอบได้อย่างง่ายดาย โดยไม่จำเป็นต้องมีคำแนะนำเพราะรูปแบบได้อธิบายตัวมันเองแล้ว
และแน่นอนว่า การออกแบบแบบมินิมัลลิสต์ได้เข้าสู่อาณาจักรดิจิทัลไปแล้วเรียบร้อย โดยนักออกแบบด้านภาพและเว็บจะนำหลักการที่เรียบง่ายมาใช้ในการออกแบบทั้งของตนเองและสำหรับลูกค้า
4. ผู้ทรงอิทธิพลแห่งวงการออกแบบสไตล์มินิมอล
มีผู้คนมากมายที่ออกแบบแนวมินิมอล เฉกเช่นเดียวกันกับกระแสนิยมหรือความเคลื่อนไหวอื่นๆ ที่มีกลุ่มคนผู้ทรงอิทธิพลที่สร้างผลงานได้โดดเด่นจนเขย่าวงการมากกว่าคนอื่น ผู้ทรงอิทธิพลแห่งวงการออกแบบแนวมินิมอล คือ Buckminster Fuller และ Dieter Rams
Buckminster Fuller บัคมินสเตอร์ ฟุลเลอร์

ภาพโดย mksfca
Buckminster Fuller เป็นนักออกแบบชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในเรื่องการออกแบบสถาปัตยกรรมของ geodesic dome เกิดในปี พ. ศ. 2438 ผู้มองการณ์ไกลอย่างฟุลเลอร์ ช่วยให้เขาออกแบบโดมทางภูมิศาสตร์ที่เรียบง่ายได้ในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 ซึ่งสามารถยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง - และยังคงยืนหยัดมาจนถึงทุกวันนี้
Dieter Rams ดีเทอร์ แรมส์

ภาพโดย Ged Carroll
ส่วน ดีเทอร์ แรมส์ เป็นชื่อของนักออกแบบที่อาจจะคุ้นหูยิ่งกว่า แรมส์ เป็นนักออกแบบอุตสาหกรรมชาวเยอรมันที่เกิดในปี 2475 และเป็นหัวหน้านักออกแบบที่บริษัท Braun ซึ่งเขาเป็นผู้ช่วยออกแบบหลายสิ่งหลายอย่าง เช่น เครื่องเล่นแผ่นเสียง วิทยุ เครื่องคิดเลข และเครื่องใช้สำหรับผู้บริโภคนานาชนิดภายใต้ยี่ห้อ Braun
แรมส์ มุ่งเน้นการออกแบบที่เรียบง่ายเป็นอย่างมาก โดยเน้นการรวมตัวของเฉพาะส่วนที่สำคัญของผลิตภัณฑ์เท่านั้น เพื่อไม่ให้สินค้านั้นเต็มไปด้วยสิ่งที่ไม่จำเป็น ทำให้ได้ผลลัพธ์เป็นผลิตภัณฑ์ที่แสนจะเรียบง่ายและตรงจุดมากที่สุด แนวการออกแบบที่บ่งบอกความเป็นตัวของแรมส์เองได้ดี คือ:
Less, but better.
น้อยกว่า แต่ดีกว่า
แรมส์ ยังมี 10 หลักการในการออกแบบที่ดี อีกด้วย ตามหลักการออกแบบที่ดีของเขาคือ:
เป็นนวัตกรรม - ใช้เทคโนโลยีในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ
ทำให้ผลิตภัณฑ์มีประโยชน์ - เน้นประโยชน์และการใช้งานได้จริง
สุนทรีย์ - มีความสวยงามและทำให้ผู้คนรู้สึกดี
ทำให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่เข้าใจได้ง่าย - จะดีที่สุด หากมันสามารถอธิบายการใช้งานได้ด้วยตัวมันเอง
ไม่ก่อให้เกิดความยุ่งยาก - เป็นกลางมากพอที่จะช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถกำหนดรูปแบบการใช้งานเป็นของตนเองได้
ซื่อสัตย์ - อย่าสัญญาในสิ่งที่ผลิตภัณฑ์ไม่สามารถทำได้
ยั่งยืน - เป็นนิรันดร์
ลงรายละเอียดได้ครบทุกรายละเอียด
เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม - อนุรักษ์ทรัพยากรและพื้นที่ ทั้งทางกายภาพและทางการมองเห็น
ออกแบบให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ - ดึงความเป็นตัวตนของผลิตภัณฑ์ออกมาให้ได้มากที่สุด
5. แนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมสำหรับการออกแบบแนวมินิมอล
การที่รู้ความเป็นมากับผู้ทรงอิทธิพลต่อวงการออกแบบมินิมอลเป็นสิ่งที่ดี แต่ความรู้ที่ไม่ได้ลงมือทำนั้นเปล่าประโยชน์ (ยกเว้นว่าอยากรู้เพื่อความบันเทิง) ต่อไปนี้ เป็นแหล่งข้อมูลบางส่วนเกี่ยวกับการออกแบบแนวมินิมอล
หลักการออกแบบเว็บแนวมินิมอล
เป็นบทความที่ยอดเยี่ยมพร้อมตัวอย่างที่อธิบายถึงหลักการสำคัญของการออกแบบแนวมินิมอลได้เป็นอย่างดี รวมถึงอธิบายวิธีการประยุกต์เพื่อปรับใช้ในการออกแบบเว็บอีกด้วย เช่น
น้อยแต่มาก - ใช้เฉพาะองค์ประกอบที่จำเป็นต่อการออกแบบเว็บ เพื่อให้ผลลัพธ์สุดท้ายมีค่ามากกว่าผลรวมของทุกอย่างรวมกัน
ทิ้งสิ่งที่ไม่จำเป็น - อย่าใส่องค์ประกอบที่ไม่จำเป็นลงในการออกแบบ ใส่เฉพาะสิ่งที่จำเป็นต่อเนื้อหาและการใช้งานเว็บไซต์เท่านั้น (รวมไปถึงการออกแบบบางอย่างและองค์ประกอบกราฟฟิคบางส่วนที่ส่งผลต่อการอ่านและการใช้งานโดยตรง)
ลบจนกว่าจะเจ๊ง - ลบองค์ประกอบทั้งหมดออกจนกว่าการออกแบบจะใช้การไม่ได้ตามที่ต้องการ (หยุดการออกแบบที่เป็นมิตรกับผู้ใช้หรือหยุดการออกแบบที่ส่งมอบประสบการณ์ตามความตั้งใจเดิมไว้ก่อน) เมื่อลบจนถึงจุดที่จะใช้การต่อไม่ได้แล้ว นั่นคือจุดที่การออกแบบนี้เป็นแนวมินิมอลที่สุดแล้ว
ครบทุกรายละเอียด - สิ่งที่เลือกทิ้งไว้ต้องมีความสำคัญที่แท้จริงเท่านั้น ให้นึกถึงอารมณ์ที่ต้องการให้ผู้เยี่ยมชมสัมผัสได้ จากนั้นเลือกเฉพาะรายละเอียดที่ทำให้เกิดอารมณ์นั้นเท่านั้น (เช่น ทันสมัย, ซับซ้อน, สะอาด, และอื่นๆ)
ใส่สีให้น้อยที่สุด - เลือกเฉพาะสีที่ปฏิสัมพันธ์ต่อกันได้ดีเท่านั้น และเลือกสีที่สร้างอารมณ์ตามที่ต้องการให้ผู้เข้าชมสัมผัสถึง
พื้นที่สีขาวมีความสำคัญ - อย่าพยายามถมทุกช่องว่างให้เต็ม แต่ให้ใช้พื้นที่สีขาวในการเน้นองค์ประกอบให้โดดเด่นแทน
Ins and Outs of Minimalist Design
บทความการออกแบบจาก Shack ที่กล่าวถึงประเด็นสำคัญของการออกแบบแนวมินิมอล ทั้งในเว็บและการจัดวางของนักออกแบบที่เข้าใจมันอย่างแท้จริง ประเด็นสำคัญที่ถูกพูดถึง ได้แก่:
การใช้ตัวอักษร - เลือก font ที่เรียบง่าย สะอาดตา และอ่านได้ง่ายที่สุด
การจัดวางแนวการอ่านที่คมชัด - จัดเรียงเนื้อหาให้อ่านง่ายและน่าอ่าน สายตาของเราคุ้นเคยกับรูปแบบนี้ดี และต้องการให้สิ่งที่เขียนจัดวางในรูปแบบที่คาดเดาได้
ความคมชัด - เพิ่มความคมชัดให้กับการออกแบบ เพื่อช่วยให้อ่านได้ง่ายขึ้น หรือทำให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น
พื้นที่สีขาว - เน้นจุดที่ต้องการให้ผู้อ่านมองเห็น ในขณะที่ทำให้มันรู้สึกสบายตาและดูไม่อัดแน่นจนเกินไป
ตัวอย่างของการออกแบบแนวมินิมอล
ด้วยแนวคิดดังกล่าว ทำให้นักออกแบบของ ดาร์วิด คอร์เปอเรท ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากแนวคิดมินิมอล บอกกับความต้องการของผู้อยู่อาศัยที่ต้องการให้ใช้ลูกเล่นให้น้อยที่สุด แต่เติมเต็มด้านการใช้งานได้อย่างครบครัน อย่างการออกแบบบ้านหลังนี้ ที่เน้นใช้โทนสีอยู่เพียง 3 สีเท่านั้น และเน้นจุดที่ต้องการให้ใช้แสงไฟได้เป็นประโยชน์มากที่สุด แต่ก็ช่วยทำให้จุดเด่นของบ้านดูเป็นส่วนที่ใช้งานได้มากที่สุดเช่นกัน ด้วยการเพิ่ม chandelier ตรงโถงบันได เป็นต้น
ที่มา Minimalist Design: A Brief History and Practical Tips
ผู้เขียน OLEG MOKHOV
เรียบเรียงและแปลใหม่โดย Beam Pavini